ปลูกมะพร้าว พืชเงินล้าน

อัพเดตเมื่อ : 29 Mar 2024 14:52
หน่วยงาน : บทความน่ารู้

มะพร้าว  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cocos nucifera Linn   เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ และมีอนาคตที่สดใส เนื่องจากมีความต้องการบริโภคสูงขึ้นทุกปี ทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งในรูปของน้ำมะพร้าวทานสด  น้ำกะทิ น้ำตาลมะพร้าว น้ำมันมะพร้าว กะลามะพร้าวก็ยังสามารถใช้เป็นวัสดุเพาะ ทำปุ๋ย เผาถ่าน  อุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าวผลผลิตมะพร้าวแต่ละปีจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ หลายพันล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

มะพร้าวสามารถขึ้นได้ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ แต่ขึ้นได้ดีในดินที่มีสภาพเป็นกลางหรือเป็นกรดเล็กน้อยคือ (pH ระหว่าง 6-7 ) ลักษณะดินร่วน หรือร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี มีฝนตกกระจายสม่ำเสมอแทบทุกเดือน อากาศอบอุ่น หรือค่อนข้างร้อน และมีแสงแดดมาก

การปลูกมะพร้าว

พันธุ์มะพร้าว

มะพร้าวเป็นพืชผสมข้ามพันธุ์ แต่ละต้นจึงไม่เป็นพันธุ์แท้ อาศัยหลักทางการผสมพันธุ์ที่เป็นไปโดยธรรมชาติ อาจแบ่งมะพร้าวออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทต้นเตี้ยและประเภทต้นสูง

ประเภทต้นเตี้ย

มะพร้าวประเภทนี้ มีการผสมตัวเองค่อนข้างสูง จึงมักให้ผลดกและไม่ค่อยกลายพันธุ์ ส่วนใหญ่นิยมปลูกไว้เพื่อรับประทานผลอ่อน เพราะในขณะที่ผลยังไม่แก่ (อายุประมาณ 4 เดือน) เนื้อจะมีลักษณะอ่อนนุ่ม และน้ำมีรสหวาน บางพันธุ์น้ำมีคุณสมบัติพิเศษ คือ มีกลิ่นหอม

ลักษณะทั่วไป

ลำต้นเล็ก โคนต้นไม่มีสะโพก ต้นเตี้ย โตเต็มที่สูงประมาณ 12 เมตร ทางใบสั้น ถ้ามีการดูแลปานกลางจะเริ่มให้ผลเมื่ออายุ 3-4 ปี ให้ผลผลิตประมาณ 35-40 ปี
มะพร้าวประเภทต้นเตี้ยมีหลายพันธุ์ แต่ละพันธุ์มีลักษณะแตกต่างกัน เช่น เปลือกสีเขียวเหลือง นวล (สีงาช้าง) น้ำตาลแดง หรือสีส้ม น้ำมีรสหวาน มีกลิ่นหอม มะพร้าวต้นเตี้ยทุกพันธุ์จะมีผลขนาดเล็ก เมื่อผลแก่มีเนื้อบางและน้อย ซึ่งได้แก่พันธุ์ นกคุ่ม หมูสีเขียว หมูสีเหลือง หรือนาฬิกา มะพร้าวเตี้ย น้ำหอม และมะพร้าวไฟ แต่ปัจจุบันมะพร้าวน้ำหอมกำลังเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง ที่นิยมใช้ในการบริโภคสดและส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ตลอดจนใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม

จั่น (ช่อดอก) มะพร้าวที่ติดผลแล้ว
จั่น (ช่อดอก) มะพร้าวที่ติดผลแล้ว

ประเภทต้นสูง

ตามปกติมะพร้าวต้นสูงจะผสมข้ามพันธุ์ คือ ในแต่ละช่อดอก (จั่น) หนึ่ง ๆ ดอกตัวผู้จะค่อย ๆ ทยอยบาน และร่วงหล่นไปหมดก่อนที่ดอกตัวเมียในจั่นนั้นจะเริ่มบาน จึงไม่มีโอกาสผสมตัวเอง มะพร้าวประเภทนี้เป็นมะพร้าวเศรษฐกิจส่วนใหญ่ปลูกเป็นสวนอาชีพ เพื่อใช้เนื้อจากผผลแก่ไปประกอบอาหาร หรือเพื่อทำมะพร้าวแห้งใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันพืช

ลักษณะทั่วไป

ลำต้นใหญ่ โคนต้นมีสะโพกใหญ่ ต้นสูง โตเต็มที่สูงประมาณ 18 เมตร ทางใบใหญ่และยาว ถ้ามีการดูแลปานกลางจะเริ่มให้ผลเมื่ออายุ 5-6 ปี อายุยืนให้ผลผลิตนานประมาณ 80 ปี
มะพร้าวต้นสูงมีผลโตเนื้อหนาปริมาณเนื้อมาก มีลักษณะภายนอกหลายอย่างที่แตกต่างกัน เช่น ผลขนาดกลาง ขนาดใหญ่ รูปผลกลม ผลรี บางพันธุ์เปลือกมีลักษณะพิเศษ คือ ในขณะที่ผลยังไม่แก่ เปลือกตอนส่วนหัวจะมีรสหวานใช้รับประทานได้ จึงมีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน ได้แก่พันธุ์กะโหลก มะพร้าวใหญ่ มะพร้าวกลาง ปากจก ทะลายร้อย เปลือกหวานและมะแพร้ว

การเตรียมหลุมปลูก

ควรเตรียมหลุมในฤดูแล้ง ขุดหลุมขนาด 50 X 50 X 50 ซม. แยกดินส่วนบนไว้ต่างหาก ตากหลุมอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ถ้ามีปลวกให้เผาเศษไม้ใบใม้แห้งหรือขยะในหลุม อาจจะใช้ยากันปลวกโรยก้นหลุมแทนการเผาก็ได้ ถ้าปลูกมะพร้าวในพื้นที่แห้งแล้ง หรือดินที่ปลูกเป็นทรายจัดให้ใช้กาบมะพร้าวรองก้นหลุมโดยวางกาบมะพร้าวให้ด้านที่มีเส้นใยหงายขึ้นด้านบน วางซ้อนกัน 2-3 ชั้น เพื่อช่วยเก็บความชื้นในดิน ถ้าไม่มีกาบมะพร้าวจะใช้วัสดุอื่นๆ เช่น ฟางข้าว ใบไม้แห้ง หญ้าแห้ง ฯลฯ แทนก็ได้ใส่ดินบนที่ผสมปุ๋ยโวก้าอินทรีย์ในอัตรา 1:7 รองก้นหลุม ส่วนดินล่างผสมด้วยปุ๋ยร้อคฟอสเฟตหลุมละครึ่งกิโลกรัม (ประมาณ 2 กระป๋องนม) และใส่ฟูราดาน 1 กระป๋องนม เพื่อป้องกันปลวกกินผลพันธุ์มะพร้าว เอาดินใส่ลงในหลุมให้เต็ม ทิ้งไว้จนถึงฤดูปลูก

วิธีการปลูก

ควรปลูกในฤดูฝน

ขุดดินบนหลุมปลูกที่เตรียมไว้ ให้เป็นหลุมเล็กๆ ขนาดเท่าผลมะพร้าว

เอาหน่อที่คัดเลือกแล้วมาตัดรากที่หักช้ำออก ใช้ปูนขาวหรือยากันราทาตรงรอยตัดวางหน่อลงในหลุม ให้หน่อตั้งตรง ตัดหน่อไปในทิศทางเดียวกัน

เอาดินกลบอย่างน้อย 2/3 ของผล เพื่อให้พอดีมิดผลมะพร้าว แต่ระวังอย่าให้ดินทับโคนหน่อ เพราะจะทำให้หน่อถูกรัด ต้นจะโตช้า แต่เมื่อมะพร้าวโตขึ้นก็ควรจะกลบดินให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันโคนลอย

เอาไม้ปักเป็นหลักผูกยึดกับต้นให้แน่น เพื่อป้องกันลมโยก เหยียบดินรอบโคนหน่อให้แน่น

ควรทำร่มให้ในระยะแรก เพื่อลดอัตนาการตายเนื่องจากถูกแดดจัดเกินไป

ในบริเวณที่ปลูกถ้ามีสัตว์เลี้ยง ให้ทำรั้วป้องกันสัตว์มาทำลาย

ระยะปลูก

ควรปลูกแบบสามเหลี่ยมด้านเท่า  เหมือนกับการปลูกปาล์มน้ำมัน  เพราะจะได้จำนวนต้นมากกว่าการปลุกแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสประมาณ 15 เปอร์เซนต์ ถ้าปลูกมะพร้าวชนิดต้นสูง ควรปลูกห่างกัน 8.50-9.00 เมตร ถ้าปลูกมะพร้าวต้นเตี้ยหรือ หมูสี ใช้ระยะปลูกห่างกัน 6.5 เมตร

ระยะปลูก 9 เมตร จะมีระยะระหว่างต้น 9 เมตร ระยะห่างระหว่างแถว 7.8 เมตร  (ดังรูปด้านล่าง)  และจะมีมะพร้าว 22 ต้นต่อไร่

ระยะ 8.5 เมตร มีระยะหว่างต้น 8 เมตร ระหว่างแถว 7.36 เมตร จะได้มะพร้าว 25 ต้นต่อไร่

ระยะปลูก 6.5 เมตร มีระยะระหว่างต้น  6.5 เมตร ระหว่างแถว 5.63 เมตร ได้มะพร้าว 43 ต้นต่อไร่

ระยะปลูกปาล์มน้ำมัน
ระยะปลูกมะพร้าว แบบสามเหลี่ยม ระยะหว่างต้น 9 เมตร

 

การใส่ปุ๋ย

แม้ว่ามะพร้าวเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ในสภาพดินแทบทุกชนิด แต่ปริมาณผลผลิตนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณธาตุอาหารในดิน และสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน สภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินที่เหมาะแก่การปลูกมะพร้าวควรอยู่ในช่วงระหว่าง pH 6-7 การใส่ปุ๋ยให้พอเหมาะแก่ความต้องของมะพร้าวนั้น ควรได้นำตัวอย่างดินไปเข้าวิเคราะห์ในห้องปฎิบัติการด้วย พบว่าในปีหนึ่งๆ มะพร้าวจะดูดธาตุอาหารไปใช้ ดังนี้

ไนโตรเจน 9.44-14.56  กก./ไร่
ฟอสฟอรัส 4.32-6.40   กก./ไร่
โปแตสเซียม 13.60-20.96  กก./ไร่

ในบรรดาธาตุดังกล่าว มะพร้าวจะดูดโปแตสเซียมไปใช้มากที่สุด โดยประมาณ 62 % ของโปแตสเซียม ถูกนำไปใช้ในการเพิ่มจำนวนผลผลิตของมะพร้าว   ชนิดของปุ๋ยที่แนะนำเพื่อเพิ่มผลผลิตของมะพร้าว คือ ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 หรือ 12-12-17  ร่วมกับ ปุ๋ยอินทรีย์  โดยทางเราแนะนำปุ๋ยโวก้าอินทรีย์ เนื่องจากปุ๋ยโวก้าอินทรีย์ มีธาตุซิลิคอน ซึ่งมะพร้าวสามารถดูดนำไปใช้เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับลำต้น ใบ เพื่อป้องกันศัตรูพืชได้ดี การใส่ปุ๋ยควรใส่ให้สัมพันธ์กับอายุมะพร้าวดังตารางข้างล่างนี้

อายุมะพร้าว(ปี) ปุ๋ยผสม 13-13-21 หรือ 12-12-17 (กก.) ปุ๋ยโวก้าอินทรีย์ (ก.ก.)
1 1 1
2 2 2
3 3 3
4 หรือมากกว่า 4 4

ฤดูที่เหมาะที่สุดที่จะใส่ปุ๋ยให้มะพร้าว คือ ในช่วงต้นและปลายฤดูฝน ในช่วงนี้มีความชื้นเพียงพอที่จะช่วยละลายปุ๋ย และรากของมะพร้าวกำลังเจริญเติบโตเต็มที่สามารถดูดปุ๋ยไปใช้ได้ดี
การหว่านปุ๋ย  จากการศึกษาพบว่า รากมะพร้าวที่สามารถดูดปุ๋ยได้ดีจะอยู่ภายในรัศมี 2 เมตรจากลำต้น  ดังนั้นการใส่ปุ๋ยจึงควรโรยหรือหว่านปุ๋ยตั้งแต่โคนต้นไปจนถึง 2 เมตร โดยรอบแต่ถ้าเป็นมะพร้าวที่ยังเล็กอยู่ควรหว่านปุ๋ยใกล้โคนมะพร้าวเพราะรากยังแผ่ไปไม่กว้าง หลังจากหว่านปุ๋ยแล้วควรพรวนดินตื้นๆ ลึกประมาณ 10-15 ซม. เพื่อให้ปุ๋ยได้คลุกเคล้ากับดินและป้องกันการชะล้าง

การกำจัดวัชพืช

ใช้แรงคน โดยการถากด้วยจอบ หรือดายด้วยมีด ใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น รถไถหญ้า รถไถนาขนาดเล็ก ปลูกพืชคลุม ใช้พืชตระกูลถั่ว เช่น คาโลโปโกเนียม เพอร์ราเรีย หรือ เซ็นโตรมา โดยการปลูกให้ห่างโคนต้นเกินรัศมี 1 วา ใช้สารเคมี เช่น ไกลโฟเซ็ท  กำจัดวัชพืชข้ามปี เช่น หญ้าคา ใช้พาราควอท  กำจัดวัชพืชล้มลุกต่างๆ เช่น ตีนนก ตีนกา สาบแร้งสาบกา (อัตราและวิธีใช้ตามฉลากยา เวลาใช้ต้องระวังอย่าให้ละอองสารเคมีถูกต้นหรือใบมะพร้าว)

การเก็บเกี่ยวผลผลิต

สำหรับมะพร้าวน้ำหอม ปกติชาวสวนจะแบ่งความอ่อนแก่ของมะพร้าวเป็น 3 ประเภทคือ

  1. เนื้อมะพร้าวชั้นเดียว  คือมะพร้าวที่เริ่มสร้างเนื้อภายในกะลา มีเนื้ออยู่ประมาณครึ่งผล อายุผลนับจากจั่นบานประมาณ 5 เดื่อนครึ่ง  เนื้อมีลักษณะเป็นวุ้นบาง ๆ  น้ำยังไม่หวาน จึงไม่เหมาะนำมาบริโภค
  2. เนื้อมะพร้าวชั้นครึ่ง  คือมะพร้าวที่เริ่มสร้างเนื้อมากขึ้น จะเกือบเต็มกะลา แต่บริเวณขั้วผลยังมีลักษณะเป็นวุ้นอยู่บ้าง  มีอายุหลังจั่นบาน 6 เดือน น้ำเริ่มหวานขึ้น
  3. เนื้อมะพร้าว 2 ชั้น คือมะพร้าวที่สร้าวเนื้อเต็มกะลา เนื้อหนานุ่มพอดี  เหมาะสำหรับบริโภค น้ำหวานหอม  มีอายุหลังจั่นบาน 6 เดือนครึ่ง  ชาวสวนจะเก็บเกี่ยวมะพร้าวในระยะนี้

เมื่อมะพร้าวน้ำหอมออกจั่นประมาณ 2 เดือนก็จะแตกดอกจั่น ดอกจั่นใช้เวลา 2 สัปดาห์จึงจะบาน เมื่อนับเวลาจะมะพร้าวเริ่มแตกดอกจั่น ไปอีก  6 เดือนครึ่ง ก็สามารถเก็บมะพร้าวเนื้อชั้นครึ่งได้ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดเมืองไทย สำหรับตลาดต่างประเทศ จะเก็บหลังแตกดอกจั่น 7 เดือน ซึ่งคือมะพร้าว 2 ชั้น

ข้อสังเกตุอีกประการคือ  ดูจากสีผลบริเวณรอยต่อผลกับขั้วผล  ถ้าเห็นสีขาวเป็นวงกว้าง แสดงว่ามะพร้าวอ่อนเกินไป  แต่หากเมื่อสีขาวบริเวณรอยต่อเหลือเพียงเล็กน้อยแสดงว่าสามารถเก็บผลผลิตได้

สีขั้วผลมะพร้าวที่ยังอ่อน
สีขั้วผลมะพร้าวที่ยังอ่อน
สีขั้วผลมะพร้าวที่แก่พร้อมเก็บเกี่ยว
สีขั้วผลมะพร้าวที่แก่พร้อมเก็บเกี่ยว

การเก็บมะพร้าว ไม่ควรโยนลงมา  แต่ควรใช้เชือกผูกทะลายแล้วหย่อนลงพื้น ซึ่งจะทำให้มะพร้าวไม่ช้ำหรือแตกเสียหาย และสามารถเก็บได้นานขึ้น

ผลผลิตมะพร้าว

สำหรับมะพร้าวน้ำหอมจะเก็บเกี่ยว ทุก 20-25 วัน  ถ้ามีการบำรุงรักษาดี มะพร้าวสามารถออกจั่นได้เกือบ 15 จั่นต่อปี  ผลผลิตเฉลี่ย ประมาณ 70-100 ผลต่อต้นต่อปี หรือประมาณ 3,000-4,000 ผลต่อไร่ต่อปี

การปลูกมะพร้าวให้ได้ผลผลิตดีนั้น  ต้องมีน้ำเพียงพอ  เกษตรกรบางรายจะใส่เกลือปีละประมาณ 1 กำมือ และห้ามตัดทางมะพร้าว  เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นสูงเร็ว  ควรปล่อยให้ทางมะพร้าวแห้งเหี่ยวไปเอง



ที่มา : http://www.kasetnumchok.com/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7/c

 

Untitled Document

แชร์ข่าวนี้

ข่าวอื่นๆ

แนวข้อสอบ กลุ่มตำแหน่งนิติศาสตร์

ที่มา : บทความน่ารู้

29 Mar 2024

แนวข้อสอบเอกสัตวศาสตร์

ที่มา : บทความน่ารู้

28 Mar 2024

แนวข้อสอบเอกการเงินการธนาคาร

ที่มา : กรมบังคับคดี

28 Mar 2024