บึงกาฬ

อัพเดตเมื่อ : 29 Apr 2024 14:38
หน่วยงาน : ศูนย์รวมธุรกิจ
จังหวัดบึงกาฬ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 751 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 4,305 ตารางกิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง มีน้ำตก ภูเขาและ มีพื้นที่ติดต่อกับแม่น้ำโขง และแขวงบริคำไชย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอได้แก่ อำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอปากคาด อำเภอโซ่พิสัย อำเภอศรีวิไล อำเภอพรเจริญ อำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง และอำเภอบุ่งคล้า


 
จังหวัดบึงกาฬ เป็นจังหวัดที่มีการร้องขอให้จัดตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2537 แต่ไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาในขณะนั้นและได้มีการนำเข้าการพิจารณาอีกครั้ง โดยผ่านมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและออกเป็นพระราชบัญญัติในวันที่ 22มีนาคม 2554
 
แรกเริ่มจังหวัดบึงกาฬเป็นตำบลอยู่ในเขตการของอำเภอชัยบุรี จังหวัดนครพนม ต่อมาราชการได้ย้ายที่ว่าการอำเภอชัยบุรี (ปากแม่น้ำสงคราม)มาตั้งบ้านบึงกาญจน์ (ริมฝั่งแม่น้ำโขง) ตรงข้ามเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้สร้างที่ว่าการอำเภอชัยบุรีขึ้นใหม่ และโอนการปกครองมาขึ้นกับจังหวัดหนองคาย เมื่อปี พ.ศ.2459 จึงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบึงกาญจน์ เมื่อปี 2475
 
อาณาเขต
บึงกาฬเป็นจังหวัดที่มีเขตพื้นที่ติดต่อกับประเทศลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นแนวพรมแดน
 
ทิศเหนือ ติดต่อกับแขวงบอลิคำไซ ประเทศลาว
ทิศตะวันออก ติดต่อกับแขวงบอลิคำไซ ประเทศลาว และจังหวัดนครพนม
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสกลนคร
ทิศตะวันตก ติดต่อกับแขวงบอลิคำไซ ประเทศลาว และจังหวัดหนองคาย
สภาพภูมิประเทศ
จังหวัดบึงกาฬเป็นจังหวัดที่มีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ แวดล้อมไปด้วยภูเขาและน้ำตกที่สวยงาม เช่น น้ำตกเจ็ดสี, น้ำตกตากชะแนน ที่อยู่ภายในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูวัว พื้นที่ส่วนใหญ่ในจังหวัดเป็นที่ราบลุ่ม
 
สภาพอากาศ
ภูมิอากาศที่จังหวัดบึงกาฬค่อนข้างดี เพราะได้อิทธิพลจากแม่น้ำโขงทำให้อากาศไม่ร้อนมากในช่วงถดูร้อน ในฤดูหนาวอากาศดีเหมาะแก่การท่องเที่ยวและพักผ่อนโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญจังหวัดบึงกาฬมักจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจองห้องพักต่อเนื่อง
 


สถานที่เที่ยวจังหวัดบึงกาฬ
วัดอาฮงศิลาวาส (แก่งอาฮง ) : วัดอาฮงศิลาวาส ตั้งอยู่ ต.ไคสี อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย ห่างจาก อ.บึงกาฬ 21 กม. เป็นวัดที่ติดกับแม่น้ำโขง บริเวณหน้าวัดจะมีแอ่งที่มักจะเกิดกระแสน้ำวน โดยน้ำจะไหลวนจนเป็นรูปกรวยขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง จะเกิดขึ้นทั้งกลางวันกลางคืน โดยเฉพาะในช่วงน้ำหลาก โดยเชื่อกันว่าเป็นจุดที่ลึกที่สุดในแม่น้ำโขง หรือที่เรียกกันว่า “สะดือแม่น้ำโขง” ยิ่งน้ำไหลเชี่ยวมากเท่าไร
 
หลุมรูปกรวยยิ่งเป็นหลุมลึกและมีขนาดใหญ่ พร้อมกับมีเสียงดังคล้ายกระแสน้ำไหลเซาะโขดหิน ตรงจุดที่ลึกที่สุดมีถ้ำขนาดใหญ่ซึ่งจะไปทะลุถึงที่ฝั่งลาว บริเวณด้านหลังภูงูในประเทศลาว ชาวบ้านเชื่อกันว่าสะดือแม่น้ำโขงนี้เป็นเมืองของพญานาค
 
วัดโพธาราม (วัดหลวงพ่อพระใหญ่) : ที่ตั้งบ้านท่าไคร้ หมู่ 5 ต.บึงกาฬ อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย ห่างจากตัวอำเภอบึงกาฬ 5 กิโลเมตร หลวงพ่อพระใหญ่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย โบกฉาบด้วยปูนหน้าตักกว้าง 2 เมตร จากฐานถึงยอดพระเกศสูง 2.10 เมตร จากพระฌานุ (เข่า) ถึงพระศอ (คอ) สูง 0.90 เมตร พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนหน้าตัก ประดิษฐานบนแท่น 4 เหลี่ยม ซึ่งได้บูรณะขึ้นใหม่ในปี 2537


มีตำนานเล่าสืบต่อกันมา ว่า ประมาณ 2,000 กว่าปีมาแล้ว ได้มีชาวบ้านอพยพครอบครัวมาจากเมืองยศ (บริเวณจังหวัดยโสธรในปัจจุบัน) มาตั้งถิ่นฐานริมฝั่งแม่น้ำโขง จากนั้นค่อยๆร่นขึ้นมาทางเขตชัยบุรี (ปัจจุบันคืออำเภอบึงกาฬ) เมื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสมได้แล้วก็จัดการถางพงที่รกทึบ จนได้พบพระพุทธรูปที่ถูกปกคลุมด้วยเถาวัลย์ จึงช่วยกันนำเถาวัลย์ออก ก็พบว่าพระเกตุมาลาหัก
 
ทั้งยังพบซากเครื่องปั้นดินเผา โอ่งโบราณ รวมทั้งเครื่องใช้อีกหลายอย่าง ซึ่งก็คือหลวงพ่อพระใหญ่องค์ปัจจุบัน ซึ่งไม่เคยเคลื่อนย้ายไปไหนตั้งแต่มีการค้นพบ เพียงแต่มีการต่อเติมพระเกตุที่หักให้คงสภาพเดิม และมีการสร้างแท่นที่ประดิษฐานโอบของเดิมเอาไว้เพื่อความแข็งแรง
 
ทุกวันนี้จะมีการจัดงานประจำปีที่ทำเพื่อสักการะแด่หลวงพ่อพระใหญ่ปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือ วันเพ็ญเดือน 3 จะทำบุญข้าวจี่ พร้อมถวายปราสาทผึ้ง 2 หลัง ครั้งที่สอง ทำในเทศกาลวันสงกรานต์ มีการสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ ซึ่งจะเป็นงานใหญ่ประจำปี
 
ศาลเจ้าแม่สองนาง : ด้วยความที่เป็นพื้นที่ติดลำน้ำโขง นอกจากจะได้ใช้ประโยชน์จากสายน้ำมาเป็นเวลานาน คนสองฝั่งโขงก็ยังมีความเชื่อต่างๆเกี่ยวกับแม่น้ำด้วยเช่นกัน อย่างเช่นการที่แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตในน้ำโขงเป็นจำนวนไม่น้อย คนเฒ่าคนแก่เชื่อว่าพวกที่เสียชีวิตในลำน้ำโขงเป็นการกระทำของเทพเจ้าทางน้ำ และเทพเจ้าทางน้ำที่ชาวบ้านลุ่มแม่น้ำโขงนับถือก็คือ “เจ้าแม่สองนาง” (งู 1 คู่ อาจเป็น งู เงือก และพญานาคเป็นสิ่งเดียวกัน)




ดังนั้นเพื่อลดการสูญเสียของผู้คน และเป็นการขอให้เจ้าแม่ช่วยปกป้อง รวมถึงเสริมสิริมงคล ชาวบ้านจะมีการเซ่นไหว้และบวงสรวง และในแถบลุ่มน้ำโขงทั้งสองฟากฝั่งเราก็จะเห็นการตั้งศาลเจ้าแม่สองนางอยู่หลายที่ เช่น ศาลเจ้าแม่สองนาง อำเภอเมืองหนองคาย ที่วัดหายโศก ศาลเจ้าแม่สองนาง อำเภอโพนพิสัย ที่ปากห้วยหลวง ศาลเจ้าแม่สองนางที่บ้านจอมนาง ศาลเจ้าแม่สองนางที่อำเภอบึงกาฬหน้าโรงพยาบาลบึงกาฬ
 
หนองกุดทิง : เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ มีความกว้างโดยเฉลี่ย 22,000 ไร่ ลึก 5 – 10 เมตร ที่นี่มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งสัตว์น้ำกว่า 250 สายพันธุ์ ปลาที่ไม่มีที่ใดในโลก 20 สายพันธ์ พืชน้ำกว่า 200 ชนิด มีนกพันธุ์ต่างๆ กว่า 40 ชนิด ด้วยความอุดมสมบูรณ์เช่นนี้จึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลกแห่งที่สองของจังหวัดหนองคาย



ยังมีรายงานการพบนกที่หายากและอยู่ในสถานภาพถูกคุกคามของโลก ได้แก่ เป็ดลาย นกเป็ดหัวดำรวมถึงเหยี่ยวหาดูได้ยากอีก  2 ชนิด คือ เหยี่ยวทุ่งแถบเหนือ และเหยี่ยวทุ่งพันธุ์ยุโรป
 
ภูทอก : คำนี้ในภาษาอีสานแปลว่า ภูเขาที่โดดเดี่ยว ตั้งอยู่ในเขตบ้านคำแคน ตำบลนาสะแบง เป็นภูเขาหินทรายโดดเด่นมองเห็นได้แต่ไกล ประกอบด้วย ภูทอกใหญ่ และภูทอกน้อย เดิมเคยเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ได้เริ่มเข้ามาจัดตั้งเป็นแหล่งบำเพ็ญเพียร เพื่อให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติธรรม
 
ภูทอกน้อย : เป็นที่ตั้งของวัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการเดินเท้าขึ้นสู่ยอดภูทอก โดยเดินไปตามสะพานไม้เวียนวนรอบเขาสูงชันจนถึงยอด สะพานไม้สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาจากเหล่าพระ เณร และชาวบ้าน เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2512 ใช้เวลานานถึง 5 ปี
 
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว : ตั้งอยู่บ้านดอนจิก เลยอำเภอบุ่งคล้า 3 กิโลเมตรและเลี้ยวขวาไปอีกประมาณ  6กิโลเมตร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามีเนื้อที่ประมาณ 186 ตารางกิโลเมตร หรือ 116,562ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอบึงกาฬ อำเภอบุ่งคล้า อำเภอเซกา และอำเภอบึงโขงหลง เกือบติดพรมแดนประเทศลาว มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยประมาณ  150-300 เมตร สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น บางส่วนเป็นสันเขาหินทราย ลานหินและทุ่งหญ้า
 
น้ำตกเจ็ดสี ตั้งอยู่บ้านดอนเสียด ตำบลบ้านต้อง อำเภอเซกา เป็นน้ำตกที่สวยงามมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน สายน้ำตกเกิดจากธารน้ำของห้วยกะอามไหลมาตามหน้าผาหินทรายสูงและแผ่กว้างเป็นทางยาว สายน้ำตกกระทบหินเบื้องล่างเกิดเป็นละอองไอน้ำเมื่อกระทบกับแสงแดดทำให้เกิดสีต่างๆ ขึ้น จึงเรียกว่า น้ำตกเจ็ดสี น้ำตกภูถ้ำพระ ตั้งอยู่บริเวณบ้านถ้ำพระ ตำบลโสกก่าม อำเภอเซกา อยู่ห่างจากอำเภอเซกาประมาณ   34 กิโลเมตร มีน้ำเฉพาะในฤดูฝน เป็นที่ตั้งสำนักสงฆ์ เงียบสงบและร่มรื่น เมื่อเดินขึ้นมาบนลานหินด้านหลัง จะพบหุบเขารูปแอ่งกระทะขนาดกว้างประมาณ  200 ตารางเมตร มีสายธารน้ำตกไหลมายังก้นอ่างที่เบื้องล่าง บริเวณน้ำตกเป็นผากว้างราว 100 เมตร สูง 50 เมตร สามารถลงเล่นน้ำได้

 
น้ำตกชะแนน ตั้งอยู่บ้านภูเงิน อำเภอเซกา เดิมชื่อน้ำตกตาดสะแนน ตาดแปลว่า “ที่ซึ่งมีน้ำไหล” สะแนน มีความหมายว่า “สูงสุดยอด” หรือ “เยี่ยมยอด” สายน้ำตกเกิดจากลำห้วยสะแนนไหลลดหลั่น 2 ชั้น มีขนาดกว้างประมาณ 100 เมตร ระหว่างชั้นที่ 1 กับชั้นที่ 2 ห่างกัน 300 เมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สวยงาม มีน้ำเฉพาะฤดูฝน ระหว่างทางจะผ่านขัวหิน (สะพานหิน) ซึ่งน้ำจะลอดหายไปใต้สะพานหินที่มีความยาวประมาณ  100 เมตร ก่อนขึ้นสู่ชั้นที่สองจะผ่านแนวลำธารที่เต็มไปด้วยโขดหิน เดินตามลำธารไปทางชายฝั่งด้านซ้ายมือ ทะลุออกที่ลานกว้างริมแอ่งน้ำใหญ่ เหนือแอ่งน้ำขึ้นไปก็เป็นน้ำตกชั้นเตี้ยๆ ตกลงมาสู่แอ่ง เรียกกันว่า น้ำตกบึงจระเข้
 
น้ำตกสะอาม เป็นน้ำตกใหญ่และสวยงามอีกแห่งหนึ่งอยู่ด้านตะวันตกของภูวัว อยู่ที่ ตำบลโพหมากแข้ง อำเภอบึงโขงหลง บริเวณน้ำตกมีแนวสันภูเป็นผาหินกับลานหินที่แปลกตา เป็นระยะทาง 3-5 กิโลเมตร จากลานหินบนสันภูมองเห็นทิวทัศน์ภูวัวด้านตะวันตกได้ตลอดแนว



 
Untitled Document

แชร์ข่าวนี้

84 ครั้ง

ข่าวอื่นๆ