ยะลา

อัพเดตเมื่อ : 9 May 2024 01:27
หน่วยงาน : ศูนย์รวมธุรกิจ
ยะลา เป็นจังหวัดหนึ่งตั้งอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย มีพื้นที่ 4,521.078 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 542,314 คน มีอาณาเขตทางใต้ติดกับประเทศมาเลเซีย เป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่ไม่ติดทะเล และเป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย ดังปรากฏในคำขวัญประจำจังหวัดคือ "ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน"จังหวัดยะลาเป็นหนึ่งในสี่จังหวัดที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และเป็นหนึ่งในสามจังหวัดที่ประชากรส่วนใหญ่ใช้ภาษามลายูปัตตานีในการสื่อสาร ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายมลายู รองลงมาคือชาวไทยเชื้อสายจีนและชาวไทยพุทธ อย่างไรก็ตามยะลาถือเป็นจังหวัดที่ดำรงความเป็นพหุวัฒนธรรมได้อย่างชัดเจน เพราะมีความแตกต่างกันทั้งด้านเชื้อชาติ ภาษา และศาสนา แต่ชนทุกกลุ่มยังคงรักษาวิถีชีวิตและประเพณีของตนไว้อย่างเหนียวแน่น


ศัพทมูลวิทยา
เหตุที่เรียกชื่อว่ายะลานั้นเพราะพระยาเมืองคนแรกได้ตั้งที่ทำการขึ้นที่บ้านยะลา คำว่า ยะลา (มลายู: Jala, جالا) หรือสำเนียงภาษามลายูพื้นเมืองเรียกว่า ยาลอ (มลายู: Jalor, جالور, ญาโลร์) แปลว่า "แห" ซึ่งเป็นคำยืมมาจากภาษาบาลี-สันสกฤตว่า ชาละ หรือ ชาลี หมายถึง "แห" หรือ "ตาข่าย"[6] มีภูเขาลูกหนึ่งในเขตอำเภอเมืองยะลามีลักษณะเหมือนแหจับปลา โดยผูกจอมแหแล้วถ่างตีนแหไปโดยรอบ ผู้คนจึงเรียกภูเขานี้ว่า ยะลา หรือ ยาลอ แล้วนำมาตั้งนามเมือง


ประวัติ
ยะลาเดิมเป็นท้องที่หนึ่งของเมืองปัตตานี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้มีการปรับปรุงการปกครองใหม่เป็นการปกครองแบบเทศาภิบาลและได้ออกประกาศข้อบังคับสำหรับปกครอง 7 หัวเมือง รัตนโกสินทรศก 120 ซึ่งประกอบด้วยเมืองปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง สายบุรี ยะลา ระแงะ และรามัน ในแต่ละเมืองจะแบ่งเขตการปกครองเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2447 ประกาศจัดตั้งมณฑลปัตตานีขึ้นดูแลหัวเมืองทั้ง 7 แทนมณฑลนครศรีธรรมราช และยุบเมืองเหลือ 4 เมือง ได้แก่ ปัตตานี ยะลา สายบุรี และระแงะ ต่อมา พ.ศ. 2450 เมืองยะลาแบ่งเขตการปกครองเป็น 2 อำเภอ ได้แก่อำเภอเมืองยะลาและอำเภอยะหา ต่อมา พ.ศ. 2475 ได้มีการยกเลิกมณฑลปัตตานี และในปี พ.ศ. 2476 เมืองยะลาได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นจังหวัดยะลาตามพระราชบัญญัติราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 เรื่อง การจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาค ออกเป็นจังหวัด เป็นอำเภอ และให้มีข้าหลวงประจำจังหวัด และกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหารราชการ

ถอนศาลยะลา

ศาสนา
จังหวัดยะลาเป็นหนึ่งในสี่จังหวัดของไทยที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็เป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธมากที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีชุมชนชาวคริสต์ขนาดย่อมทั้งนิกายโรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ในเขตเทศบาลนครยะลาและเทศบาลเมืองเบตง นอกจากนี้ยังมีชุมชนของผู้นับถือศาสนาซิกข์ขนาดน้อย อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลนครยะลา ส่วนชาวซาไกหันมานับถือศาสนาพุทธโดยให้เหตุผลว่านับถือตามสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แต่ปัจจุบันยังปะปนไปด้วยความเชื่อพื้นเมือง และแรงงานต่างด้าวชาวพม่าในยะลาที่นับถือศาสนาพุทธและร่วมปฏิบัติศาสนกิจร่วมกับชาวไทยพุทธในท้องถิ่น
 
ภาษา
จังหวัดยะลาเป็นหนึ่งในสามจังหวัดของประเทศไทยที่ประชากรส่วนใหญ่ใช้ภาษามลายูปัตตานีในการสื่อสาร เป็นสำเนียงที่ใช้ในจังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส และทางตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดสงขลา ภาษานี้มีการใช้อักษรยาวีซึ่งได้รับอิทธิพลจากอักษรอาหรับสำหรับการเขียน สำหรับการเผยแผ่ศาสนาโดยเฉพาะ ทว่าในยุคหลังมานี้มีการยืมคำไทยเข้าปะปนมากขึ้น โดยเฉพาะในสังคมเมืองที่พูดมลายูปนไทย ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้ติดป้ายประกาศของสถานที่ราชการเป็นภาษามลายูปัตตานีและอักษรยาวีทั่วไปในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ชาวไทยพุทธและชาวไทยเชื้อสายจีนบางส่วนสามารถพูดภาษามลายูเพื่อสื่อสารกับคนมลายูซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่

 
Untitled Document

แชร์ข่าวนี้

75 ครั้ง

ข่าวอื่นๆ